21 กรกฎาคม 2563 | โดย พิมพ์พัดชา กาคำ ภาพ: ธนาชัย ประมาณพาณิชย์
31
ท่ามกลางสถานการณ์บ้านเมืองที่ปัญหา ในฐานะคนข่าวต้องลงสนามเพื่อรายงานความเคลื่อนไหวให้กับประชาชนได้รับทราบอย่างถูกต้องแม่นยำ 'อภิรักษ์ หาญพิชิตวณิชย์' มีประสบการณ์เอาตัวรอดท่ามกลางสมรภูมิที่เป็นข่าวอย่างไร
สำหรับหนุ่มคนนี้แม้จะเรียนจบทางด้าน บริหารธุรกิจ ทว่า โหน่ง-อภิรักษ์ หาญพิชิตวณิชย์ สนใจในงานด้านสื่อสารมวลชนมากว่าจึงสมัครเป็น ผู้ประกาศข่าว ที่สถานีโทรทัศน์ไอทีวี มีโอกาสลงสนามหาข่าวเองถือว่าเป็นงานที่ท้าทาย กลายเป็นประสบการณ์ที่น่าภาคภูมิใจ วันนี้นอกจากจะปรับตัวสู่ยุค New Media แล้วยังเข้าสู่ New Normal วิถีชีวิตอีกด้วย
อยากให้เล่าถึงชีวิตการเป็นผู้ประกาศข่าวในยุคแรกๆสักนิด
ก่อนอื่นผมขอแสดงความคิดเห็นว่าไอทีวีสมัยนั้น ก็คงไม่ต่างจากสถานีข่าวที่เนชั่น หลักการณ์คงจะเหมือนผู้ประกาศข่าวของฝรั่งที่ว่าคุณจะมานั่งอ่านข่าวในสถานีอย่างเดียวไม่ได้ ต้องลงสนามไปทำข่าวเองด้วย ก็เลยเป็นที่มาว่าเราเองก็อยากจะลงไปทำอะไรในสนามแบบนั้น ข่าวที่น่าประทับใจก็เริ่มตั้งแต่อิรักทำสงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งที่ 2 ตอนแรกผมก็ไปกับนักข่าว 2 คน
หลังๆ ผมก็เดินทางไปคนเดียว จากนั้นก็มีข่าวแผ่นดินไหวที่ปากีสถาน แล้วก็มีโรงงานไฟฟ้าที่ฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่นระเบิด ล่าสุดก็มีข่าวการประท้วงที่ฮ่องกง ส่วนงานง่ายๆที่ผมประทับใจก็มี ฟุตบอลโลก บ้าง กีฬาโอลิมปิกบ้างแล้วก็มีงานเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ถ้าเป็นข่าวแบบนี้ผมก็จะเดินทางไปคนเดียว ซึ่งเป็นยุคหลังๆที่ โทรศัพท์มือถือสามารถทำได้ทุกอย่าง
การไปทำข่าวในต่างประเทศคนเดียว ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง
ไปทำข่าวการประท้วงที่ฮ่องกง ผมเตรียมอุปกรณ์ป้องกันแก๊สน้ำตา หมวก หน้ากาก แว่นตา ล้วนเป็นเครื่องไม้เครื่องมือที่เราต้องใช้ สถานการณ์ประท้วงที่ฮ่องกงผมไปมาประมาณ 3 ครั้ง เจอนักข่าวไทยไปที่นั่นเหมือนกันบ้าง ครั้งแรกผมหาซื้ออุปกรณ์ป้องกันจากประเทศไทย ปรากฏว่าไม่พอ เพราะเอาไม่อยู่ เช่นหน้ากากที่มีช่องหายใจแค่ช่องเดียว ถ้าเราต้องวิ่ง มันทำให้เหนื่อยหายใจไม่ทัน ก็ต้องไปหาซื้อใหม่ที่ฮ่องกง
ถามคนที่ไปประท้วงในฮ่องกงว่าเขาใช้แบบไหนซื้อที่ไหน ต้องใช้แบบมีอากาศเข้าสองข้าง หรือบางทีใช้ไปสักพักจะมีกลิ่นแก๊สโชยเข้ามา แปลว่าความสามารถในการกรองไม่ดี ต้องไปใช้ของ 3 เอ็ม หรือของที่มียี่ห้อมันจะทำให้เราหายใจได้ดีขึ้น ก็ต้องไปเรียนรู้ในสนาม แว่นตาธรรมดาของเราก็เหมือนกันพอลงสนามแล้วเจอแก๊สน้ำตา แว่นเป็นฝ้ามองไม่เห็น เราก็ไปดูว่าผู้ชุมนุมเขาใช้แบบไหน ถ้าผู้ชุมนุมรอดได้เราก็รอด
หมวกที่ซื้อจากเมืองไทยก็ถือว่าโอเคมีประสิทธิภาพแล้ว ไม่มีปัญหาอะไรใช่ไหม
ผมว่าหมวกส่วนใหญ่ทำจากไฟเบอร์ หรือพลาสติกหนาๆ ใส่ไว้กันของหล่นใส่หัว แรกๆหลายคนอาจจะมองว่าไม่สำคัญ ไม่จำเป็นเพราะอาจจะดูเวอร์ๆด้วยซ้ำเป็นหมวกที่มีโลโก้ช่อง หรือมีคำว่า PRESS ขณะที่ตำรวจไล่ต้อนผู้ชุมนุมไปอีกฝั่งเราก็ปะปนอยู่ในนั้น บางทีตำรวจอยู่อีกด้านคนบนตึกต้องการช่วยผู้ชุมนุมก็จะขว้างปาสิ่งของลงมาจากตึก เช่นกระถางต้นไม้ ถ้าเราไม่รู้ ยืนไม่ดีก็จะหล่นใส่หัว เพราะเราไปทำข่าวก็ต้องการเข้าไปใกล้ที่สุดเพื่อให้ได้ภาพและเสียงชัดเจนมากที่สุด ขณะเดียวกันมันก็ต้องเสี่ยง เราต้องเซฟตัวเองให้ดีด้วย อีกอย่างที่เราต้องมีคืออุปกรณ์ปฐมพยาบาล มีน้ำเกลือเอาไว้ล้างตาก็ได้ล้างแผลก็ได้ ผ้าเย็น และอุปกรณ์ที่ช่วยทำแผลง่ายๆ ก็ได้ใช้บางครั้งเราโดนเอง บางครั้งก็ช่วยคนอื่นได้
เจอเหตุการณ์ที่น่ากลัวบ้างไหม
การประท้วงที่ฮ่องกงผมเคยเจอมาทั้งสองฝั่งเลยครับ เราเองมีบัตรนักข่าวทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ มีโลโก้สถานีของเรา มีบัตร PRESS ช่วงหลังๆของการชุมนุมมีปัญหาที่ว่า ตำรวจก็ไม่เชื่อว่าเราเป็นนักข่าว ในขณะที่ผู้ชุมนุมเองก็ไม่เชื่อว่าเราเป็นนักข่าว คุยกับเราเป็นภาษาจีน เราก็คุยกลับไปเป็นภาษาอังกฤษ มีคนมารุมแล้วบอกว่าไม่ต้องมาแกล้ง มาจากเมืองจีนใช่ไหม ให้พูดภาษาจีนมาเลย ด้วยหน้าเราคงดูเป็นจีน เพราะเราเป็นคนไทยเชื้อสายจีน
เขาก็เลยไม่เชื่อบอกว่าอย่ามาไก๋ อย่ามาฟอร์ม ให้พูดภาษาจีนออกมาเลย มันก็กลายเป็นว่าในบางพื้นที่เราทำงานลำบาก มีถึงขนาดถ่ายเสร็จบอกว่าให้ลบทิ้งเดี๋ยวนี้ ถึงมีข้อห้ามว่าไม่ให้คนทั่วไปถ่ายผู้ชุมนุมในระยะใกล้ เราเองก็นิสัยไม่ดีคิดว่าเป็นนักข่าวสามารถทำได้ทุกอย่าง บางทีเขาเปิดหน้าเช็ดเหงื่อ ดื่มน้ำ เราไปถ่ายรูปเขา ถ้าเราคิดแบบนักข่าวจ๋าก็คือ เรามีสิทธิ์ที่จะถ่าย แต่ในมุมของเขาก็คือ เขารู้สึกไม่ปลอดภัย ถ้าคุยกันดีๆก็ไม่มีปัญหา แต่บางคนเขาระแวงมากคิดว่าเป็นสปาย เป็นคนสอดแนม ก็จะแสดงออกกับเราอีกแบบ
ตอนนั้นรู้สึกกลัวบ้างไหม ?
ถ้าอยู่ในที่แจ้งผมไม่กลัวครับ เพราะเรามาทำงาน เจตนาของเราก็ชัดอยู่แล้ว แต่ถ้าอยู่ในที่คนไม่เยอะ ก็ไม่สามารถรู้สึกว่าฉันเป็นนักข่าวสามารถทำได้ทุกอย่างเพราะมีหน้าที่เปิดเผยความจริง มันไม่ได้ครับ ถ้าความจริงมันตายไปพร้อมกับเราก็ไม่มีประโยชน์ ถ้าเกิดอุบัติเหตุอะไรกับเรามันไม่มีคนเห็น เราคงไม่แสดงความเก่งกล้าสามารถได้ขนาดนั้น เราต้องรู้จักเอาชีวิตรอดเพื่อนำเสนอข่าวสารให้กับผู้คนได้เห็นความจริงด้วยครับ
เพราะอะไรจึงออกจากสนามข่าวที่คุ้นเคยสู่งานใหม่
ผมคิดว่าเราอยู่วงการทีวีมาทั้งชีวิต คือ 20 ปีวันนี้โลกเปลี่ยนไปสู่ระบบออนไลน์ เมื่อก่อนแบ่งชัดเจนอยู่แล้วว่าหนังสือ คือหนังสือต้องอ่าน วิทยุคือฟัง ทีวีคือมีภาพเคลื่อนไหวประกอบเสียง แต่เดี๋ยวนี้ออนไลน์มีทุกอย่างประกอบเข้าด้วยกัน มีทั้งตัวหนังสือให้อ่าน มีทั้งฟังแบบพอสแคสต์ มีทั้งคลิปวีดีโอ สมัยก่อนเรามองว่าออนไลน์คนเข้าถึงไม่มาก แต่ทุกวันนี้ทุกคนมีมือถือ มันง่ายกว่าจะมีทีวีซักเครื่องซะอีก ผมเชื่อว่าคนรุ่นใหม่หลายๆคนไม่ซื้อทีวีด้วยซ้ำ
ปัจจุบันดำรงค์ตำแหน่งบรรณาธิการบริหาร นิตยสาร GM และ GM Live ต้องปรับตัวอย่างไร
ผมคิดว่าเป็นความท้าทายอีกครั้ง เป็นโจทย์ใหม่ที่ไร้รูปแบบ ทักษะที่เรามีมาทั้งหมดเอาไปใส่ในออนไลน์ได้ เพียงแต่เราจะทำอย่างไรให้ตรงกับความประสงค์ของคนอ่าน คนดู ความยากก็คือเราต้องหากลุ่มเป้าหมายของเราให้เจอ แต่ผมเชื่อว่าทักษะในการทำมันคงไม่ต่างกันมาก สิ่งที่ผมคิดคือ เรามีนักเขียนเก่าๆ เก๋าๆ ของ GM อยู่แล้ว เป็นนักเขียน นักสร้างเรื่องที่ดี ในขณะเดียวกันเราก็มีเบสคือคนทำข่าวที่เป็นสถานการณ์ปัจจุบัน สำหรับคนสร้างเรื่องเราจะไปเติมในฐานะคนหาเรื่อง คือ“คนสร้างเรื่อง” คือนักเขียน “คนหาเรื่อง” คือนักข่าวออกไปหาเรื่องมานำเสนอ อีกอย่างที่ผมอยากนำเสนอคือ “คนมีเรื่อง” ถ้าเราเอาเรื่องราวของผู้รู้ในแต่ละสาขาเช่นนักวิทยาศาสตร์มานำเสนอให้สนุกก็จะน่าสนใจมากขึ้น
ในกระแสวิถีชีวิต New Normal ต้องปรับตัวไหม
ผมคิดว่าวิถีชีวิตใหม่มันอาจจะยังไม่นิ่ง แต่ทุกคนต้องคิดใหม่ ทุกคนต้องวางแผนระวังเรื่องความเสี่ยง อย่างผมทำทีวี ว่างๆก็ทำทัวร์ มีจังหวะเวลาผมก็สอนหนังสือ คือเราเป็นสื่อ มีคอนเทนต์ต่างประเทศเราก็ทำทัวร์ มีประสบการณ์การทำงานก็สอนหนังสือ ทั้ง 3 งานนี้ต้องออกไปพบปะผู้คน วันนี้เราต้องมานั่งมองว่า เราต้องสอนออนไลน์ไหม สำหรับเรื่องความห่าง มองย้อนกลับไปเมื่อก่อนไอเดียบางไอเดียเกิดจากเราไปนั่งที่ร้านกาแฟ เกิดจากการที่เราไปพบปะพูดคุยกับผู้คน เกิดจากการเดินทางไปท่องเที่ยว ถ้าบอกว่าวันนี้เราต้องเปลี่ยนไปแล้ว เราต้องห่างกัน แล้วถามว่าไอเดียใหม่ๆจะเกิดขึ้นไหม ก็คงจะเป็นไอเดียที่เกิดขึ้นจากข้อจำกัด ผมว่ามนุษย์ต้องปรับตัวได้และค้นหาไอเดียในรูปแบบใหม่กับสิ่งที่มันต้องจำกัด
งานทั้งหมดในชีวิตที่เราต้องรับผิดชอบมีอะไรบ้าง
ตอนนี้ผมงานผมมีอยู่ 3 อย่างก็คือทำงานในฐานะสื่อสารมวลชนก็คือที่ GM ดูทั้งหนังสือนิตยสาร และออนไลน์ทั้งหมด งานที่ 2 ก็คือ สอนหนังสือภายใต้ชื่อ Bangkok Media Academy ภายใต้คอนเซ็ปต์ 3 อย่างก็คือ School /Studio / Space ก่อนโควิด-19 ผมเตรียม Space ด้านล่างของออฟฟิศเป็นร้านกาแฟ มีเพื่อนมาแสดงงานศิลปะ หรือใครจะเช่าพื้นที่ทำเวิร์คช้อป จัดงานอะไรก็ได้ บางคนอยู่คอนโดจะทำอะไรก็ต้องเช่าที่แพงๆ มาที่นี่จ่ายแค่ค่าน้ำค่าไฟ เรามี Space ตรงนี้ร่วมกัน ผมว่าหลายคนมีไอเดียใหม่ๆเยอะ อันที่สองก็คือ School ผมอยากเปิดโรงเรียนสอนทำข่าว เพราะยังเก็บอุปกรณ์อะไรต่างๆไว้เยอะ แม้โลกสมัยใหม่จะไปสู่ออนไลน์ แต่ผมว่าทักษะในการถ่ายภาพและมุมมองก็ยังต้องใช้อยู่ และผมมีสตูดิโอ ห้องตัดต่อ แต่คงไม่ได้ทำแล้วเพราะตอนนี้ผมทำงานที่ GM คิดว่าจะให้เพื่อนๆที่สนใจมาเช่าเช่นเปิดคลาสสอนทำขนม ทำงานศิลปะ สอนโยคะ ฯลฯ งานที่ 3 ก็คือผมชอบเดินทาง ผมเชื่อว่าคนที่ทำสื่อเวลาเห็นอะไร เราจะเห็นไม่เหมือนคนอื่น เช่นเสาโทริอิที่นี่ทำไมถึงเป็นไม้ อีกที่หนึ่งเป็นเสาเหล็ก เราไปค้นข้อมูลว่าทำไมจึงเป็นแบบนั้นแล้วเราเอามาเล่า แล้วเราก็พาคนไปตามรอย
ในช่วงโควิด-19 อยากจะฝากข้อคิดอะไรบ้าง
เราควรยกมาตรฐานใหม่ที่เป็นสแตนดาร์ด มีเรื่องตลกที่ไม่ค่อยตลกคือ เวลาเราไปกินร้านอาหารที่ญี่ปุ่น แล้วเกิดมีใครท้องเสียขึ้นมาซักคนหนึ่ง คนญี่ปุ่นจะมองว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก ในขณะที่คนจีนหรือคนญี่ปุ่นมาบ้านเรา ถ้ารถทัวร์คันหนึ่ง หรือสองคันมีคนประมาณ 100 กว่าไปจอดกินอาหารทะเลซักที่หนึ่ง แล้วมีคนท้องเสียขึ้นมา 1 คน คนไทยจะบอกว่า อีก 99 คนไม่เห็นมีใครท้องเสียเลย มันใช่ร้านฉันเหรอ? ไม่ใช่มั๊ง สุขอนามัยเป็นเรื่องพื้นฐานที่เราควรทำให้ดี เราต้องการยกระดับมาตรฐานตรงนี้ไหม
ถ้าไปญี่ปุ่นเราสบายใจว่าร้านอาหารทุกร้านแม้แต่ข้างทางก็สะอาดปลอดภัย พอเป็นเมืองไทยเราต้องเลือกร้านให้ดีๆนะเดี๋ยวท้องเสีย นอกจากระวังตัวเรื่องโควิดแล้วน่าจะยกมาตฐานเหล่านี้ขึ้นมาให้เนี๊ยบ เรือควรจะลงกี่คนก็ต้องลงเท่านั้น ต้องล้างมือก่อนเข้า ต้องสวมหน้ากากก่อนเข้าก็ต้องทำ ผมว่าคนไทยรู้ระเบียบดีเช่นเวลาคนไทยไปนิวซีแลนด์ สแตนดาร์ดเขาเป็นแบบไหนเราก็ทำตามกติกาเขาได้ ไปสิงคโปรเขาห้ามถ่มน้ำลายห้ามทิ้งขยะเราก็ทำตามเขาได้ ตอนนี้ถือเรามีจังหวะที่จะเปลี่ยนให้ได้มาตรฐาน ก็ดีนะครับ
ถ้าต้องเปลี่ยนจริงๆ คิดว่ามีสิ่งไหนที่อยากจะให้เปลี่ยนเป็นลำดับแรก
การบังคับใช้กฎหมาย และ วินัย ผมว่าคนไทยต้องมีวินัย และการบังคับใช้กฏหมายต้องโอเค ทั้งสองอย่างนี้ถ้าอยู่ใน Mindset มันจะแก้ปัญหาได้อีกหลายอย่าง เวลาเราไปญี่ปุ่นไฟคนข้ามถนนแดงแต่ไม่มีรถมา คนญี่ปุ่นก็ไม่ข้ามนะ คนไทยถามว่าทำไมไม่ข้าม คนญี่ปุ่นถามกลับมาว่าแล้วทำไมต้องข้าม Mindset ต่างกัน คนญี่ปุ่นถูกฝึกวินัยเคารพกฎ ในขณะที่คนอเมริกันบังคับใช้กฏหมาย ถ้าเราเอามาประยุกต์ใช้กับคนไทยโดยบังคับใช้กฏหมายแบบอเมริกา แล้วเอาวินัยมาจากคนญี่ปุ่น ผมว่าจะแก้ปัญหาอะไรได้อีกหลายอย่าง
วัฒนธรรมดั้งเดิมสมัยเด็กจำได้ผู้ใหญ่บอกว่าให้เอาขยะเอาไปทิ้งน้ำ ตอนนี้ต้องเปลี่ยนไปได้แล้ว คนไทยนึกจะขายลูกชิ้นทอด ก็ไปตลาดซื้อกระทะ ซื้อน้ำมัน ซื้อลูกชิ้นมาทอดขายที่ไหนก็ได้ ในขณะที่ประเทศอื่นทำไม่ได้ ไทยเราอิสระเสรีมาแต่ไหนแต่ไรก็ต้องปรับใช้ให้พอดี
สำหรับงานด้านวิทยุ-โทรทัศน์นั้นผมมองว่ายุคนี้มีความเปลี่ยนแปลงชัดเจน คนข่าวคนทีวีก็ต้องปรับตัว เนื่องจากยุคนี้คนดูเฉพาะสิ่งที่ตัวเองสนใจเท่านั้น ไม่มีการรอคอยสิ่งที่สื่อต้องการนำเสนอ และโลกสมัยใหม่มีข้อมูลมากมายบนมือถือให้เลือกเสพทว่าบางครั้งข้อมูลก็มากเกินไปจนเหลือเฟือไม่ตอบโจทย์ สำหรับผมแล้ว ผมยังมีความสุขที่ตื่นขึ้นมาตอนเช้าจิบกาแฟ อ่านหนังสือพิมพ์ แม้ต้องปรับตัวสู่โลกยุคใหม่ก็ตาม
"มันง่าย" - Google News
July 20, 2020 at 11:06PM
https://ift.tt/39g8sV3
'อภิรักษ์ หาญพิชิตวณิชย์' สมรภูมิข่าว เราต้องรอด - กรุงเทพธุรกิจ
"มันง่าย" - Google News
https://ift.tt/36QbjCT
Home To Blog
No comments:
Post a Comment