Pages

Tuesday, July 21, 2020

รู้ 'จิตวิทยาสังคม' เครื่องมือ “เปลี่ยนโลก” - กรุงเทพธุรกิจ

karitosas.blogspot.com
รู้ ‘จิตวิทยาสังคม’ เครื่องมือ “เปลี่ยนโลก”

21 กรกฎาคม 2563

82

ในคำแนะนำตอนหนึ่งของ จิตวิทยาสังคม: ความรู้ฉบับพกพา หนังสือเล่มล่าสุดจากสำนักพิมพ์ Book Scape ซึ่งแต่งโดย ริชาร์ด คริสป์  และแปลโดย ดร.ทิพย์นภา หวนสุริยา อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาสังคมพื้นฐานและประยุกต์ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกริ่นไว้ว่า

“เมื่อมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของสังคมขนาดใหญ่ที่เรียกว่า “โลก” เราจึงควรพกพาแว่นตาของ “จิตวิทยาสังคม” ไว้ในฐานะเครื่องมือสำคัญในการมองโลก”

จิตวิทยาสังคม จึงอาจเป็นคำตอบที่ว่า ทุกครั้งที่เราทุกคนกำลังถกประเด็น “ปัญหาสังคม” หรือประเด็นต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกระแสร้อนแรงแค่ไหน อะไรคือสิ่งที่เป็น “แรงขับ” ผลักดันให้คนเราเลือกที่จะมีพฤติกรรมหรือกระทำเช่นนั้น และอะไรที่ทำให้สังคมมองหรือตัดสินในแต่ละสถานการณ์แตกต่างกัน

“จิตวิทยาสังคม” ทำไมต้องเข้าใจ?

ในฐานะผู้แปลหนังสือ "จิตวิทยาสังคม: ความรู้ฉบับพกพา" ดร.ทิพย์นภา ได้ขยายความถึงเหตุผลที่เราควรศึกษาจิตวิทยาสังคม ในการเสวนาออนไลน์สาธารณะ หัวข้อ "มองโลก + เปลี่ยนโลกด้วยจิตวิทยาสังคม" ที่จัดขึ้นโดยสำนักพิมพ์ Book Scape สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  และแขนงวิชาจิตวิทยาสังคมพื้นฐานและประยุกต์ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า

การเรียนรู้เรื่องนี้ เปรียบเสมือนการเรียนรู้ “จักรวาลทางสังคมและผู้คนที่รายล้อมอยู่ในชีวิตของเรา

ซึ่งหากเรามีความเข้าใจจิตวิทยาสังคมแล้ว ย่อมจะนำไปสู่คำตอบหรือทางออกในการแก้ปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นได้ทางหนึ่ง รวมถึงรับมือกับอุปสรรคทั้งหลายในสังคม

เพราะจิตวิทยาสังคมสามารถช่วยสะท้อนสายสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและหรือในสังคมอย่างกระจ่างชัด และการศึกษาพฤติกรรมและปัจจัยที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมต่าง ๆ ของคน

“คนส่วนใหญ่มองว่า “ปัญหา” ที่เกิดขึ้นในสังคมหรือคนที่มีปัญหานั้นเป็นเรื่องปัจเจก ซึ่งการมองแบบนั้นมันง่าย เพราะคิดว่าแค่เราหยิบเขาทิ้งหรือเอาออกไปจากสังคมก็ได้แล้ว แต่ความเป็นจริง กว่าที่คน ๆ หนึ่งจะถูกหลอมจนมามีพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ยังมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องและมีอิทธิพลอีกมากมายทับซ้อนอยู่ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัย สังคม สิ่งแวดล้อม ระบบ หรือนโยบาย ซึ่งหากเราเข้าใจ วิธีแก้ปัญหาก็จะต้องแก้อีกแบบ ไม่ใช่แค่เอาเขาออกไปเฉยๆ”

ซึ่งเป็นแนวคิดจาก ดร.ริชาร์ด คริสป์  นักฟิสิกส์ที่ผันตัวมาสนใจเรื่องจิตวิทยาสังคม จึงอธิบายองค์ประกอบของพฤติกรรมคนเราด้วยการเปรียบเทียบเป็นสูตรแบบเข้าใจง่ายว่า Behavior = Personality + Environment

เด็กทุกคนมีด้านดีอยู่

มีตัวอย่างจากหนึ่งพื้นที่หน่วยเล็ก ๆ ของสังคม อย่าง “บ้านกาญจนาภิเษก” ที่ถูกมองว่าเป็นพื้นที่รวมคนที่สร้างปัญหาให้สังคม แต่วันนี้ “ป้ามล” ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการบ้านกาญจนาภิเษก ได้พยายามพัฒนาการนำวิธีคิดแบบจิตวิทยาที่มองเห็นความเป็นมนุษย์ของทุกคน มาเปลี่ยนแปลงและผลักดันให้เยาวชนที่บ้านฯ กลายเป็นพลเมืองพลังบวกให้กับตัวเองและสังคม

ป้ามลเล่าว่าเด็กที่บ้านกาญจนาฯ คือกลุ่มคนที่ทุกคนมองว่าเป็นผู้แพ้ในสังคม และ ไม่สามารถเยียวยาได้อีกแล้ว แต่สำหรับป้ามลยังเชื่อว่า เด็กทุกคนมีด้านดีอยู่ ที่สำคัญทุกคนไม่ได้เกิดมาเพื่อที่จะเป็นคนไม่ดี ดังนั้น ที่บ้านกาญจนาฯ จึงเลือกการสื่อสารกับเด็ก ๆ เพื่อทำให้เขารู้สึกว่า ตัวเขาเองยังมีคุณค่าอยู่สำหรับโลกใบนี้

ต้นเหตุปัญหาส่วนหนึ่ง ป้ามลมองว่าเกิดจากระบบการศึกษาไทยเองเป็นฝ่ายที่ทำร้ายเด็ก ด้วยการผลักไสเด็กที่มองว่า สังคมมองว่าเป็นเด็กที่ “ไม่ว่าง่าย” ออกมา

“โรงเรียนมีเหตุผลอะไรที่จะให้เด็กออกจากโรงเรียน” ป้ามลตั้งคำถาม “ระบบมีปัญหา แต่ทุกคนกลับมาแก้ปัญหาที่ตัวปัจเจกอย่างบ้าคลั่ง ป้าพูดเสมอว่าเมื่อโรงเรียนปิดประตูใส่เขา คุกจะเปิดประตูให้เขาทันทีกว่า 77%  ซึ่งสังคมนี้ไม่ได้ต้องการแต่วิศวกร หรือหมอ แต่สังคมยังต้องการคนหลากหลาย โรงเรียนต้องมีพื้นที่ให้กับพวกเขาเหล่านี้ด้วย”

แม้การอยู่ในสถานกักกันเยาวชนถูกมองว่าเป็นกลไกที่จะช่วยแยกเด็กออกจาก “คุก” แต่ที่ผ่านมาสถานกักกันยังเป็นเจตนารมณ์ที่ยังไม่สามารถตอบโจทย์การแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนได้ในสายตาของป้ามล

“เรามองว่าการมีสถานควบคุมเด็กยังเป็นแค่การแยกเฉพาะพื้นที่ทางกายภาพเท่านั้น แต่ความเป็นจริง เราแทบแยกไม่ออกว่าสถานควบคุมเด็กและคุกต่างกันอย่างไร เพราะไม่มีเครื่องมือ ไม่มีนวัตกรรม และไม่มีฮาวทูอะไรเลยที่เป็นบทปฏิบัติเหมาะสมสำหรับเด็ก เด็กที่สังคมมองว่าเป็นอาชญากรเหล่านี้จึงเป็นเหยื่อที่ถูกกระทำจากสังคมไม่ต่างกัน ที่บ้านกาญจนาจึงคิดเสมอว่าควรจะใส่กิจกรรมอะไรที่ไม่ใช่คุก เราไม่เล่นด้านมืดของเด็ก” ป้ามลกล่าว

เด็กไม่ใช่ผ้าขาว แต่พวกเขามีสีสันต่างกัน

อีกผู้ใหญ่ที่ส่งเสียงสะท้อนเห็นด้วยในประเด็นนี้ รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการ ศูนย์คุณธรรม Moral Center Thailand กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น ที่ตีแผ่ว่า ระบบการศึกษาไทยออกแบบให้เฉพาะเด็กเลี้ยงง่าย ทำให้โรงเรียนไม่มีความหลากหลายสำหรับเด็กหลากหลายประเภท การจะแก้ปัญหาเกี่ยวกับเด็ก ไม่ใช่การเยียวยาเด็กฝ่ายเดียว แต่ต้องแก้ที่ระบบนิเวศน์ นั่นคือพ่อแม่ ครอบครัว โรงเรียน และสังคมไปด้วย

“เด็กไม่ใช่ผ้าขาว แต่พวกเขามีสีสันต่างกัน ดังนั้นจงอย่าเลี้ยงดูโดยการเปรียบเทียบ และโรงเรียนต้องออกแบบให้เด็กทุกคนมีพื้นที่ยืนไม่ใช่ nobody

ซึ่งการจะเปลี่ยนแปลง ทำได้ไม่ยาก สิ่งสำคัญคือการเปลี่ยนทัศนคติและเปิดใจ ถ้าทำได้จะส่งสัญญาณบวกทันที ซึ่งทุกคนสามารถเริ่มต้นจาก 3 คำถามง่ายๆ คือ 1. วันนี้รู้สึกอย่างไร เรียนเหนื่อยไหม 2. ได้เรียนรู้อะไรบ้าง คิดอย่างไร และ 3. ถ้าเจอแบบนั้นเป็นเราจะแก้ปัญหาอย่างไร

“สามคำถามนี้ง่ายมากใช้ได้ทุกสถานการณ์ ใช้ได้ทุกคน ทั้งในโมเดลชุมชน โรงเรียนหรือแม้กระทั่งครอบครัว” รศ.นพ.สุริยเดวกล่าว

ต่างเผ่า เราลดอคติกัน

ระหว่างที่สังคมถูกปัญหารุมเร้าแก้ไม่ตก ขณะเดียวกันดูเหมือนโลกเรากำลังจะถูกกระหน่ำซ้ำเติมด้วยการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัลและการสื่อสาร ที่เข้ามามีอิทธิพลเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคนทั่วโลก ซึ่งบางมุม ก็กลายเป็นตัวกระตุ้นความแบ่งแยกหรือฝักฝ่ายให้ชัดขึ้น

ในการสื่อสารเพื่อให้เกิดความเข้าใจและเปลี่ยนแปลงในสังคม ปราบ เลาหะโรจนพันธ์ ที่ปรึกษาด้าน Communication Strategy โครงการ Rethink Thinkland เอ่ยว่า “จิตวิทยาสังคม” มีความสำคัญ โดยเราควรต้องศึกษาพฤติกรรมของคนในสังคมนั้น ๆ ให้เข้าใจ

“ผมยกตัวอย่างสังคมไทยต้องยอมรับว่าเราเติบโตมาด้วยการถูกปลูกฝังคุณค่าความเป็นไทย ความชาตินิยม และความเป็นอัตลักษณ์ในตัวเองสูง คนไทยมีลักษณะพิเศษไม่เหมือนใครเยอะมาก ดังนั้น เราจะเห็นว่าบางประเด็นสำหรับคนไทย ก่อให้เกิดการต่อต้านทันที เช่น ถ้าเราบอกคนไทยว่า เราควรต้องเปลี่ยนไปทำแบบนี้ เพราะเป็นแนวคิดที่ต่างประเทศยอมรับ คนไทยจะตั้งการ์ดทันที ว่าทำไมต้องทำแบบเดียวกัน ไม่เวิร์คหรอก หรือกรณี เรื่องประชาธิปไตย คนไทยบางกลุ่มอาจมองว่า ทำไมเราจำเป็นต้องมีประชาธิปไตยแบบตะวันตก เรามีประชาธิปไตยแบบไทย ๆ  ก็ได้ จนกลายเป็นความคิดเห็นที่ขัดแย้ง ทั้งที่ความจริงประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องของเชื้อชาติเลย แต่เป็นเรื่องของการวางระบบความสัมพันธ์ ว่าเราต้องการให้สังคมเป็นแบบแนวดิ่งหรือแนวราบ”

อย่างไรก็ดี ปราบสะท้อนแนวคิดว่า โซเชียลมีเดียทำให้คนมีความเป็นปัจเจกมากขึ้น แต่เขาเชื่อว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้น

“ผมไม่เชื่อว่าเทคโนโลยีที่เข้ามาทำให้คนเป็นปัจเจกมากขึ้น ตรงกันข้าม ทำให้คนเราเป็นชนเผ่ามากขึ้นต่างหาก ยกตัวอย่างเช่น ในอดีตหมู่บ้านผมเป็นคนเดียวที่เล่นเกม อาจจะรู้สึกแปลกแยก แต่ทุกวันนี้เรามีออนไลน์ เราแปลกแยกแค่ในที่ที่เราอยู่ แต่ในโลกออนไลน์ที่มีคนเป็นล้านล้านคนทั่วโลก เราก็จะมั่นใจว่ามีคนที่เหมือนเรา และทำให้เรารู้สึกมีชนเผ่าตัวเองในโลกออนไลน์”

แต่สิ่งที่กำลังเป็นปัญหาคือ เมื่อเรามีชนเผ่าแล้ว ก็จะอยู่แต่ในเผ่าของเรา ปิดกั้น ทำให้เรายากที่เราจะเปิดโลกหรือยอมรับเข้าไปสัมผัสกับชนเผ่าอื่น

“วิธีการแก้คือโซเชียลมีเดียหรือโลกออนไลน์ควรมีอัลกอริทึ่มที่นำเสนอให้ผู้ใช้ไปเจอคนชนเผ่าอื่นๆ เพื่อให้คนที่ไม่เคยเจอกันมาก่อนมีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น ในคนที่มีความคิดเห็นแตกต่าง วิถีชีวิตแตกต่างพูดคุยกัน เพื่อลดความแปลกแยก และอคติลดน้อยลง”

โซเชียลมีเดียสารเร่งพฤติกรรม

เสริมด้วย ดร.ทิพย์นภาที่เห็นด้วย ว่า โซเชียลเป็นเครื่องมือเพิ่มอัตราเร่ง

“มนุษย์เรายังต้องการการยอมรับจากคนในสังคม ต้องการเปรียบเทียบให้คนมองว่าเราเก่ง เจ๋งหรือเปล่า หรือกลุ่มคนที่มาซัพพอร์ทเรา เทคโนโลยีออนไลน์ทำให้เราสิ่งนั้นเร็วขึ้นและไปได้กว้างขึ้น ในระยะเวลาอันรวดเร็ว หากเราใช้ในทางที่ส่งเสริมด้านการหมุนโลกพลังบวกจะช่วยให้เร็วขึ้น แต่อีกมุมความแตกแยกก็มี เป็นเรื่องธรรมชาติ เวลาที่เราคิด มีความเชื่อ เราจะพยายามรักษาความคิด ปกป้องความคิดเราว่าถูกต้อง เราจึงไม่อยากฟังเสียงใคร ดิสเครดิตเพื่อรักษาจุดยืน ซึ่งสมัยก่อนเราอาจได้แค่พูดกับคนแถวบ้านหรือคนใกล้ตัว หรือฟังจากสื่อยอ่างเดียว แต่วันนี้โซเชียลมีเดียทำให้สามารถปิดกั้น บล็อกสิ่งที่เราไม่ชอบไม่อยากฟัง และแสวงหาสิ่งที่สนับสนุนความคิดเราได้ง่ายขึ้น สุดท้ายทำให้ความเห็นยิ่งแตกต่างจากอีกกลุ่มมากขึ้นเพราะขาดปฏิสัมพันธ์กัน เช่นที่เราเห็นพฤติกรรมทัวร์ลงทำให้คนๆ เดียวหมดอนาคตได้ในวันเดียว”

“เราไม่มีทางรู้ว่าจะแก้ไขอย่างไร แต่สิ่งที่เราทำได้ คือการทำให้พื้นที่ออฟไลน์ คนจริงๆ ควรมีการปฏิสัมพันธ์ต่อกันสม่ำเสมอ เพื่อลดอคติเหล่านี้ออกไปได้และจัดการง่ายกว่าออนไลน์” ปราบเสริม

ด้านป้ามลเสริมว่า ที่บ้านกาญจนา เวลาเขามีคู่ขัดแย้งมาเผชิญกันเป็นเรื่องรุนแรงมาก ในบ้านจึงมีบ้านเริ่มปะทุกัน แต่สิ่งที่เราทำและทำให้ไม่รุนแรง คือเราเชิญเขามาคุยกัน รวมถึงครอบครัว พบว่าทุกคนลำบากกันเหมือนกันหมด ทุกคนจึงลดอคติกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้นำไปสู่ความรุนแรงแทบไม่มี มันจึงควรมีพื้นที่กลางในการพูดคุยเป็นกลไกที่จะช่วยได้

สังคมต้องการ Change Agent

รศ.นพ.สุริยเดว แนะนำว่า การจะแก้ปัญหาต่างๆ ได้ ต้องใช้พลังบวกในการแก้ปัญหา นอกจากนี้อีกโจทย์ที่ยากคือเราจะสร้าง facilitator อย่างไร หรือคนที่เป็น Change Agent อย่างไร เพื่อใส่ไปในท้องถิ่นให้เกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงได้

“ซึ่งในโลกออนไลน์ความท้าทายตรงที่ เราไม่สามารถหาผู้ขัดแย้งไม่เจอ ดังนั้น เราจำเป็นต้องติดอาวุธทางปัญญาให้เด็กรุ่นใหม่ ใส่พลังบวก วิธีการ harmonize วิธีการเจรจา ในระบบการศึกษา ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ในท้องถิ่นมีกองกำลังพลังบวกเกิดขึ้น”

พรจรรย์ ไกรวัตนุสสรณ์ ผู้ก่อตั้ง School of Changemakers จากการที่เคยทำวิจัย ทุกสี่ห้าปีกับคนรุ่นใหม่อายุ 15-25 ปี พบว่า 95-97% คนไทยรุ่นใหม่อยากมีส่วนร่วมการแก้ปัญหาสังคม

“แต่พอถามต่อว่าได้เริ่มแก้หรือไม่ 70% ตอบว่ายังไม่ได้ทำ เหตุผลเพราะ หนึ่งไม่รู้จะเริ่มยังไงดี สอง ถ้าทำคงไม่มีใครเห็นด้วย พ่อแม่พี่น้องไม่สนับสนุนจะชอบบอกว่าตัวเองดีแล้วหรือจะไปเริ่มช่วยคนอื่น เราจึงอยากสร้างนิเวศน์ที่เหมาะสม สนับสนุนเขา”

ทาง School of Changemaker จึงตั้งเป้าหมายชัดเจนว่า change maker ที่ทางโครงการอยากได้ควรมีคุณสมบัติ 6 ข้อ คือ empathy มีความสามารถฟังคนอื่นและตั้งคำถามด้วยความเข้าใจ 2.ความสร้างสรรค์ ในการแก้ปัญหา 3. มีความสามารถในการหาและวิเคราะห์สังเคราะห์ข้อมูล 4. ต้องมี pioneer spirit คือเป็นนักบุกเบิกไม่ต้องรอคนบอกให้ทำ 5. ทำให้แล้วไม่ล้มเลิก เห็นอุปสรรคเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ 6. มีความสามารถในการสื่อสารในการสร้างความร่วมมือ เพื่อนเครือข่าย

“จากประสบการณ์ที่ผ่านมา เราพบว่าการทำโปรเจคท์กิจการเพื่อสังคมมันสร้างคน ทำให้คนเห็นด้านดีของตัวเอง และเข้าใจว่าการแก้ปัญหาสังคมไม่ใช่หน้าที่รัฐบาล สังคมหรือใครคนอื่น แต่เริ่มจากตัวเราเอง ซึ่งก่อนจะเปลี่ยนใครได้เริ่มจากการที่เราต้องฟังเขาก่อน” พรจรรย์กล่าว

Let's block ads! (Why?)



"มันง่าย" - Google News
July 21, 2020 at 07:54AM
https://ift.tt/3eQpB9d

รู้ 'จิตวิทยาสังคม' เครื่องมือ “เปลี่ยนโลก” - กรุงเทพธุรกิจ
"มันง่าย" - Google News
https://ift.tt/36QbjCT
Home To Blog

No comments:

Post a Comment