ด้วยการพัฒนาของเทคโนโลยีมันก็ทำให้เกมที่ออกวางจำหน่ายในทุกวันนี้เริ่มทวีความซับซ้อนยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ แต่นั่นอาจไม่ใช่กับ Streets of Rage 4 เกมภาคต่อที่ทิ้งช่วงห่างจากภาคก่อนหน้าเป็นเวลากว่า 26 ปี มันยังคงเป็นเกมเดินตะลุยข้าง “Beat’em ups” ในแบบที่มันเคยเป็นที่มาพร้อมกับความเรียบง่าย แต่ก็เต็มไปด้วยความท้าทายที่ต้องอาศัยความชำนาญ และด้วยระยะเวลาที่ผ่านไปกว่าหนึ่งในสี่ของศตวรรษ การกลับมาในครั้งนี้ก็ยังมาพร้อมกับความสนุกสนานอันน่าประหลาดใจในแบบที่เราไม่ได้สัมผัสกันมานาน และยังมีความสมัยใหม่ที่เข้ามาเคลือบความคลาสสิคของตัวฉบับดั้งเดิมอีกด้วย
Streets of Rage 4 เป็นผลงานการพัฒนาของทีมงาน Dotemu และ Lizardcube ทีมพัฒนาที่อยู่เบื้องหลังการสร้างเกม Wonder Boy: The Dragon’s Trap เกมฉบับรีเมคของ Wonder Boy III: The Dragon’s Trap หนึ่งในเกมยอดนิยมของ Sega เมื่อครั้งอดีตซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก และ Streets of Rage 4 ก็คืออีกหนึ่งผลงานของพวกเขาที่ขอรับทำหน้าที่ในการสานต่อตำนานเกม Beat’em ups ของ Sega ด้วยเช่นกัน
และการสานต่อตำนานด้วยการมาของ Streets of Rage 4 ก็ไม่ทำให้เราได้ผิดหวัง เพราะมันคือเกมที่ยังคงไว้ซึ่งจิตวิญญาณของการเป็นเกมในฉบับดั้งเดิม และยังมีการปรับปรุงหลายสิ่งหลายอย่างที่ทำให้เราแทบนึกไม่ออกแล้วว่ามันจะมีเกมแนว Beat’em ups เกมไหนที่สามารถเข้ามาเทียบเคียงได้ในตอนนี้
Streets of Rage 4 เล่าเรื่องราวหลังจากเหตุการณ์ใน Streets of Rage 3 เป็นเวลา 10 ปี และเช่นเดียวกับระบบการเล่นของเกมเนื้อเรื่องในเกมภาคนี้เองก็ไม่มีอะไรที่ซับซ้อนมากไปกว่าการผจญภัยของเหล่าตัวเอกของเรื่อง ที่จะต้องเดินหน้าไปจัดการวายร้ายอย่าง Mr. และ Mr. Y ทายาทของ Mr. X ตัวละครวายร้ายจากเกมภาคก่อนที่หวังจะครองเมืองด้วยพลังบางอย่าง และมันก็เป็นหน้าที่ของตัวละครเอกจากเกมภาคก่อนอย่าง Axel Stone และ Blaze Fielding พร้อมกับตัวละครใหม่อย่าง Cherry Hunter (ซึ่งเป็นลูกสาวของตัวละคร Adam Hunter ตัวละครจากเกมภาคก่อน) และ Floyd Iraia ที่จะต้องมารวมทีมกันออกต่อสู้ไปตามฉากต่างๆ ที่มาพร้อมกับบอสใหญ่ประจำด่านที่มีความสามารถและธีมที่แตกต่างกันออกไปนั่นเอง
แต่ถึงมันจะมีเนื้อเรื่องที่ไม่ซับซ้อน รูปแบบการนำเสนอของเกมกลับทำออกมาได้อย่างสนใจ ด้วยนำเสนอเรื่องราวในสไตล์หนังสือการ์ตูน และที่ต้องชมก็คือการออกแบบตัวละครต่างๆ ของเกมที่ทำออกมาได้อย่างมีสีสันไม่ว่าจะเป็นตัวละครเก่าอย่าง Axel และ Blaze ที่เรียกได้ว่ามีเสน่ห์กว่าต้นฉบับเป็นอย่างมาก และตัวละครวายร้ายและตัวประกอบต่างๆ หรือบอสประจำด่านบางด่านก็ยังมีความน่าสนใจไม่แพ้กันเลยทีเดียว ซึ่งหากใครที่เคยเล่นเกมในฉบับก่อนหน้ามามันก็เต็มไปด้วยเซอร์ไพรซ์มากมายให้เราได้หายคิดถึงกันอีกครั้ง
ในส่วนของระบบการเล่นของเกม Streets of Rage 4 มันก็ยังคงเป็นเกม Beat’em ups ที่มาพร้อมกับความเรียบง่าย รูปแบบการโจมตีที่เราสามารถโจมตีใส่ศัตรูได้มีเพียงไม่กี่แบบเท่านั้น มันไม่มีแม้กระทั่งการใส่คอมโบต่อยเบาต่อยหนักมาให้เราได้แก้เบื่อ แต่มันก็สามารถสร้างความสนุกสนานและความน่าตื่นเต้นให้กับเกมได้ตลอดเวลาด้วยการที่มันมีระบบท่าพิเศษ (Special Moves) เข้ามาให้ โดยที่เมื่อผู้เล่นใช้ท่าพิเศษนี้มันจะทำให้พลังชีวิตของตัวละครลดลงซึ่งเราจะต้องทำการเตะต่อยศัตรูเพื่อให้พลังชีวิตฟื้นฟูกลับมา โดยหากเราโดนศัตรูโจมตีในระหว่างนี้แม้เพียงแค่ทีเดียวพลังชีวิตที่เราใช้ในการออกท่าทางพิเศษนั้นก็จะสูญเสียไปอย่างถาวรนั่นเอง ซึ่งทำให้การใช้ท่าพิเศษในแต่ละครั้งเองก็มีความเสี่ยงเป็นอย่างมากและมันก็ทำให้การต่อสู้อันแสนเรียบง่ายของ Streets of Rage 4 ต้องใช้ความเชี่ยวชาญอีกด้วยในการที่จะผ่านฉากแต่ละฉากของเกมที่เต็มไปด้วยความท้าทาย
ตัวละครทั้ง 4 ที่ผู้เล่นสามารถเลือกเล่นได้นั้นก็ยังมาพร้อมกับความท่วงท่าและรูปแบบการต่อสู้ที่แตกต่างกันออกไปอย่างชัดเจน ตัวอย่างเช่น Axel นั้นจะมาพร้อมกับความสามารถในการทำคอมโบรัวใส่ศัตรูได้และมาพร้อมกับท่าอัปเปอร์คัตเพลิงสุดเท่ Blaze ที่มาพร้อมกับท่าตีลังกาหลังที่สามารถใช้ในการหลบการโจมตีของศัตรูไปพร้อมกันได้ และท่าปล่อยหมัดตรงที่จะทำให้ศัตรูกระเด็นไปสุดฉาก หรือ Cherry ที่มาพร้อมกับท่าพาวเวอร์สไลด์ดีดกีตาร์ที่เป็นการโจมตีแบบวงกว้างใส่ศัตรูที่ขวางหน้า และนอกจากท่วงท่าพิเศษแล้วเกมก็ยังมีระบบ Star Moves ที่เราสามารถนำเอาดาวที่เก็บได้มาตามฉากเพื่อกดออกมาเป็นท่าไม้ตายได้อีกด้วย ซึ่งถ้าว่ากันตามตรงการใช้ท่วงท่า Star Moves ก็ดูจะไม่ค่อยมีประโยชน์มากนักนอกจากการที่ทำให้เราได้เห็นแอนิเมชันสวยๆ ของตัวละครและยังทำให้การเก็บคะแนนในระดับสูงเพื่ออวดผู้เล่นคนอื่นๆ เป็นไปได้ยากกว่าเดิมอีกด้วย
ความท้าทายในเกม Streets of Rage 4 แน่นอนว่ามันก็มาจากเหล่าศัตรูตามฉากต่างๆ นั่นเอง แม้ในความยากระดับปกติเราเองก็จำเป็นที่จะต้องใช้สมาธิอยู่พอสมควรในการรับมือกับศัตรูอันหลากหลายที่ตัวเกมประเคนเข้ามา ซึ่งมันไม่สามารถทำได้ด้วยการเตะต่อยตามปกติแต่มันจะต้องมีการวางแผนและคอยสังเกตภาพรวมของสถานการณ์ให้ดีในการรับมือกับศัตรูประเภทต่างๆ ประหนึ่งเกมแนวต่อสู้ที่จะมีศัตรูคอยมาดักทางเราเรื่อยๆ ตัวอย่างเช่นศัตรูบางประเภทจะคอยดักทางเวลาเรากระโดดโจมตีตลอดเวลา ศัตรูบางประเภทจะไม่สามารถโจมตีใส่เพื่อหยุดการโจมตีของมันได้ ศัตรูบางตัวต้องใช้ท่าพิเศษเพื่อทะลวงการป้องกันหรือต้องอัดคอมโบให้มีพลังโจมตีเพียงพอ ศัตรูบางตัวต้องใช้การจับทุ่มเท่านั้นจึงจะโจมตีใส่มันได้อย่างมีประสิทธิผล หรือแม้กระทั่งศัตรูบางประเภทที่จะมีการโจมตีสวนใส่ผู้เล่นอย่างรุนแรงเมื่อเราเผลอโจมตีใส่มันตามปกติอีกด้วยและยังมีรูปแบบของศัตรูอื่นๆ อีกมากมาย มันจึงทำให้กลไกการต่อสู้ของเกมมีความสนุกและท้าทายเป็นอย่างมาก
นอกจากเหล่าศัตรูของเกมและตัวละครของเกมแล้วอีกสิ่งหนึ่งที่สร้างสีสันให้กับเกมได้เป็นอย่างมากก็คือสภาพแวดล้อมในฉากต่างๆ ที่เป็นเอกลักษณ์นั่นเองซึ่งทั้ง 12 ฉากของตัวเกมนั้นมีการออกแบบที่แตกต่างกันออกไปอย่างชัดเจนตั้งแต่ถนนหนทางอันเสื่อมโทรม,ไนท์คลับ, ย่านไชน่าทาวน์, สำนักศิลปะการต่อสู้, หลังคารถไฟความเร็วสูงและอื่นๆ อีกมากมาย และในแต่ละฉากมันก็ยังมาพร้อมกับความแตกต่างของชนิดศัตรูที่เราต้องรับมือและยังมีสภาพแวดล้อมที่ส่งผลกับการต่อสู้ที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งอาจจะไม่ชัดเจนมากนักแต่มันก็ช่วยเสริมสร้างประสบการณ์ในการต่อสู้ให้มีความท้าทายและไม่น่าเบื่อ
อีกองค์ประกอบที่ต้องปรบมือให้กับ Streets of Rage 4 ก็คือการรังสรรค์ดนตรีประกอบ ที่เรียกได้ว่าเป็นพระรองของงาน ด้วยการที่เกมได้นำเอาดนตรีในสไตล์ “Synthwave” เข้ามาประยุกต์ที่ทำให้เราได้หวนนึกกลับไปยังตัวเกมในเวอร์ชันต้นฉบับในยุค 90s กันอีกครั้ง และเกมก็ยังมีการใช้ระบบเพลงแบบไดนามิคที่จะแปรผันตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างไร้รอยต่ออีกด้วย มันจึงเป็นองค์ประกอบที่ช่วยให้เราสามารถเพลิดเพลินไปกับเกมได้อย่างไม่รู้เบื่อ ซึ่งเมื่อมาผนวกเข้ากับงานภาพและแอนิเมชันที่เคลือบฉาบการกระทำต่างๆ ของตัวละครที่มีความลื่นไหลและมีสีสันมันก็ทำให้ Streets of Rage 4 น่าจะเป็นเกม Beat’em ups ในฝันของเหล่านักเล่นเกมที่เติบโตมากับยุค 90s ก็ว่าได้
นอกจากโหมดการเล่นแบบปกติแล้วเกมยังมาพร้อมกับการเล่นในรูปแบบ co-op สองผู้เล่นและมีระบบ Arcade แบบจับเวลา, โหมดการต่อสู้บอสอย่างเดียว และโหมดต่อสู้ระหว่างผู้เล่นที่เราสามารถนำเอาตัวละครหลักมาต่อสู้กันแบบเกมไฟต์ติ้งได้ ซึ่งก็ช่วยเพิ่มคุณค่าให้กับตัวเกมขึ้นไปอีกขั้น แม้ว่าตัวเกมหลักจะมีความยาวไม่มากนัก เราสามารถใช้เวลาเพียง 2-3 ชั่วโมงก็จบเกมได้แล้ว แต่ด้วยราคาที่ไม่สูงมากและด้วยการที่เกมออกแบบมาเพื่อให้เรากลับมาเล่นซ้ำไปซ้ำมาเรื่อยๆ เพื่อเก็บสะสมแต้มและทำอันดับไว้อวดเพื่อน มันก็น่าเรียกได้ว่าคุ้มค่าแล้วสำหรับการที่เราได้หวนกลับมาเล่นเกมแนวนี้กันอีกครั้ง หลังจากที่มันห่างหายจากฉากหน้าของวงการเกมมาเป็นเวลาหลายปี
Streets of Rage 4 คือเกม Beat’em ups ที่ดีที่สุดในตอนนี้ได้อย่างไร้ข้อกังขา มันมีทั้งความคลาสสิคในแบบฉบับดั้งเดิม แต่ก็ยังให้ความรู้สึกสมัยใหม่ได้อย่างไม่เคอะเขินด้วยงานแอนิเมชันของตัวละครที่มีความละเอียด การออกแบบที่มีความทันสมัยและมีเสน่ห์ และยังมีระบบเกมการเล่นที่ได้รับการปรับปรุงและต่อยอดมาจากเกมในต้นฉบับได้อย่างมีประสิทธิภาพ ข้อเสียที่ไม่น่าใช่ข้อเสียก็คือการที่มันยังคงเป็นเกม Beat’em ups ฉบับดั้งเดิมที่ปิดโอกาสในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่เข้ามาให้กับเกมในแนวนี้นั่นเอง
"มันง่าย" - Google News
June 03, 2020 at 05:42AM
https://ift.tt/2yXUUzN
Streets of Rage 4 Review การกลับมาของตำนานแนวเกม Beat'em ups - GAMERISM.CO
"มันง่าย" - Google News
https://ift.tt/36QbjCT
Home To Blog
No comments:
Post a Comment