Pages

Saturday, June 13, 2020

คอลัมน์การเมือง - การเมืองโกลาหล...ประชาชนอดอยาก - หนังสือพิมพ์แนวหน้า

karitosas.blogspot.com

เป็นภาพที่ “ตัดกัน” อย่างสิ้นเชิง ระหว่าง “การเมืองไทย” กับ “ประชาชนคนไทย” ที่พวกหนึ่งรวมพลังกันกดดันก๊กเหล่าที่แตกต่างจากตน ขณะที่ประชาชนอยากเห็นการ “รวมพลังกัน” แก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชน

เราจึงเห็นว่า ในภาวะ “กัดกัน” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา “อ่านเกมออก” และ “เล่นเป็น” ถึงกับลั่นวาจาในวงประชุมคณะรัฐมนตรีว่า “ผมยังไม่ปรับ ครม. ปรับ ครม. เป็นอำนาจของผม มีใครมีปัญหาไหม”


ในความเป็นจริง การปรับ ครม. ต้องเกิด และวางแผนไว้แล้วตั้งแต่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจว่าจะปรับ!!

แต่ปัญหาคือ จะปรับอย่างไร แบบ “บัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่น”

มันก็ต้อง “สร้างสถานการณ์” นำมาก่อน

ก็ให้บังเอิญว่า เกิดการล่ารายชื่อกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐให้ได้เกินกึ่งหนึ่ง และทำได้สำเร็จด้วย จนทำให้กรรมการบริหารพรรคปัจจุบันเหลือเพียงสภาพ “รักษาการ” สุดที่กลุ่มของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์กับ 4 กุมาร (ที่จริงแค่ 2 เท่านั้น ที่ถูกแรงปะทะ คือ นายอุตตม สาวนายน กับนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ หัวหน้ากับเลขาฯ พรรค) จะต้านทานไหว ได้แต่อาศัยอ้อมอกอุ่นๆ ของ “ลุงตู่” เป็นที่คุ้มภัย และ “ท่องคาถา”เดียวกันเอาไว้ คือ กำลังแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชน กำลังทำงาน ลุงตู่ยังมอบหมายงานอยู่

ในความเห็นของผม นี่คือช่วงเวลาของการ “หน่วงเวลา” รอให้ “ถึงเวลา” ก็ปรับ!!

คิดกันจริงๆ หรือว่า ปฏิบัติการในพรรคพลังประชารัฐ ภายใต้การกุมบังเหียนของ “พี่ใหญ่ 3 ป.”เป็นปฏิบัติการที่เกิดขึ้นตามลำพัง เพียงเพราะอยากเป็นใหญ่ ถูกหัวหน้ามุ้งในพลังประชารัฐเป่าหู

ไม่หรอกครับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ “รอบจัด”กว่านั้น ผ่านการ “ดีล” กับนักการเมืองมาเยอะแยะ ตั้งแต่รุ่นฟันน้ำนมยันรุ่นเขี้ยวลากดิน เสือลากหางหมาลากกระดิ่ง จะมา “ไหวไปตามลมปาก” มันก็“ฉากบังตา” เท่านั้นแหละ

ลองดูเถอะครับ อีกไม่นานก็ต้องมีการประชุมพรรคพลังประชารัฐเพื่อ “เลือกหัวหน้าพรรค” เลขาธิการพรรค และกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ซึ่งเป็นการ “ตัดริบบิ้น” นำไปสู่การ “ปรับคณะรัฐมนตรี”เป็นไปได้หรือที่ “หัวหน้าพรรค” กับ “เลขาธิการพรรค” ที่มีเสียง สส. มากที่สุดในซีกรัฐบาล จะมีตำแหน่งต๊อกต๋อยหรือไร้ตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี

สมมุตินะครับสมมุติ

หัวหน้าพรรคคือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณอันนี้แน่นอนล้านเปอร์เซ็นต์ ยกเว้นมีเซอร์ไพรส์ สุดท้ายกลายเป็น พล.อ.ประยุทธ์ นั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง

พล.อ.ประยุทธ์ ปัจจุบันเป็นรองนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่เก๋ๆ คือ เก็บผักตบ กับแก้ภัยแล้ง ที่ขมีขมันมาก ในช่วงเวลานี้ (เก็บผักตบออกจากแหล่งน้ำนี่ มันควรเป็นงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไหมนะ-คิดในใจ)เหตุที่มาอยู่ในตำแหน่งนี้ก็เพื่อ “ลดแรงเสียดทาน” ให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ รอบสองอย่างราบรื่น

ราบรื่นขนาดในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พรรคเพื่อไทยยอมเผาเวลาทิ้งจนพรรคอนาคตใหม่ในเวลานั้น ไม่ได้อภิปราย พล.อ.ประวิตร เลยเชียวล่ะ (ฮา...)

เพราะฉะนั้น ป.ประวิตร กับ ป.ประยุทธ์ เขาไม่มีวัน “แตกกัน” หรือ “หักกัน” ง่ายๆ หรอกครับเขาเล่นบท กู๊ดกาย (Good guy) กับชายชั่ว(Bad guy) กันไปอย่างนี้แหละ

เพียงแต่ว่า หลังขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคแล้ว ถ้า พล.อ.ประวิตร ยังมีตำแหน่งใน ครม. แค่ “รองนายกรัฐมนตรี” ก็ต้องถาม จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ กับ อนุทิน ชาญวีรกูล แล้วล่ะ ว่า เหลือแค่เก้าอี้รองนายกรัฐมนตรีได้ไหม “ที่ว่าง” ในการปรับเปลี่ยนตำแหน่ง มันจะได้“มีมากขึ้น”

หรือจะโยกไปคุม “มหาดไทย” เพราะงบประมาณมหาศาลกำลังไปกองอยู่ตรงนั้น ย้าย ป.ป๊อก-อนุพงษ์ เผ่าจินดา มาคุมกลาโหมซะ ป.ประยุทธ์ ก็ไม่ต้องถ่างขาควบกลาโหมแล้ว

ทีนี้เลขาฯ พรรค ไม่ว่าจะเป็น สันติ พร้อมพัฒน์หรือ อนุชา นาคาศัย ที่จะได้ มันก็ต้องมีเก้าอี้ “รัฐมนตรี” ให้นั่งด้วยนะ จะให้สันติเป็นแค่ “รัฐมนตรีช่วยคลัง” อย่างในปัจจุบัน โดยที่รัฐมนตรีคลังนั้น ยังเป็นอุตตม อดีตหัวหน้าพรรคก็คงไม่ได้แล้ว แต่คงไม่ถึงกับขึ้นเก้าอี้ รมต.คลังหรอก เพราะเป็นโควตาลุงตู่เขา ข่าวว่าหาคนนอกเตรียมไว้หลายรายชื่อแล้ว มีทั้งที่ปฏิเสธและรอการตัดสินใจ ส่วนอนุชา คงได้แค่รางวัลปลอบใจ“ระดับหนึ่ง” เท่านั้นแหละ

ฉะนั้น การบอกว่า “ไม่ปรับ ครม.” มันก็เวลานี้เท่านั้นครับ ถึงเวลาก็ต้องปรับ ข่าวว่าหลายๆ พรรค หลายๆ กลุ่มก็เริ่มขยับกันบ้างแล้ว

คราวนี้ ความโกลาหลทางการเมือง มันไม่ได้มีแค่ในพรรคพลังประชารัฐเท่านั้นน่ะสิครับ เช่น มุ้ง กปปส. ใน พปชร. สูญเสียจำนวน สส. กทม. ไปให้กลุ่มมาดามเดียร์ ที่ก่อตัวขึ้นใหม่ จนอาจต้องเลือกว่าจะเหลือใครได้เป็นรัฐมนตรีแค่คนเดียว ระหว่างพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ กับณัฏฐพล ทีปสุวรรณ กลุ่มธรรมนัสจะไปต่อยังไง ธรรมนัสจะยังได้เป็น รมช.เกษตรฯอยู่หรือไม่ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจจะได้กระทรวงพลังงาน ตามข่าวลือไหม ฯลฯ

ปรากฏว่า มีการปล่อยข่าวให้พรรคประชาธิปัตย์โกลาหลบ้าง ถึงขั้นปล่อยข่าวว่า จะล่ารายชื่อกรรมการบริหารพรรคให้เกินครึ่งแบบ พปชร. เพื่อ “เซตซีโร่” บ้าง ยากครับ ขุมข่ายของจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ กระจายอยู่ในทุกองคาพยพแล้ว นั่นทำให้ สส.หลายคนเริ่มมองหา“สังกัดใหม่” เพราะการจะได้ลงเขตหรือลงบัญชีรายชื่อ ต้องผ่านการเห็นชอบของ “สายจุรินทร์” ที่อยู่ในสาขาพรรคบ้าง ในตัวแทนจังหวัดบ้าง และในกรรมการบริหารพรรคบ้าง

มันจึงเกิดการ “กินข้าวที่ทำเนียบ” เกิดขึ้นไง

แม้จะออกมาปฏิเสธกันยกใหญ่ ว่าไม่มีการล่ารายชื่อ หรือไปกินข้าวกันเป็นเรื่องธรรมดา มีคนรู้จักอยู่ต่างพรรคไม่ได้หรือไง

แต่ถามหน่อยเถอะ ธรรมดานี่ เขากินข้าวกันที่ทำเนียบหรือครับ ธรรมดาคุณพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เขาที่ฐานที่มั่นอยู่ที่โรงแรมติดกับเอ็มบีเคกลางกรุงนั่นเลยไม่ใช่หรือครับ ถึงขนาดตอนชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรค ก็เปิดห้องให้หลายคนประจำการอยู่ที่นั่น บางคนมาเป็นรองหัวหน้าพรรคอยู่กับจุรินทร์ในปัจจุบันด้วยซ้ำไป (ฮา...)
แม้จะบอกว่านัดกันไว้นานแล้ว ก่อนโควิด-19 จะมา แต่ถามว่าในสถานการณ์การเมืองแบบนี้ จะกินข้าวด้วยกันบนสายสัมพันธ์อันดี มันมีที่อื่นให้ไปกินกันไหมครับ หรือคุณพีระพันธุ์ท่านงานยุ่ง จนขอกินในที่ทำงานเถอะ น้องๆ มาหาพี่ก็ละกัน อะไรอย่างนั้น...หรือ?เอาเถอะครับ สภาพการเมืองในปัจจุบัน มันเขย่ากันเสียจนทุกพรรคกระเทือนกันไปหมด พรรคก้าวไกลก็มีข่าวว่าไปกินข้าวกับคุณหญิงหน่อย และก็ตามฟอร์ม ออกมาปฏิเสธกันชุลมุน

กระนั้นก็ตาม มันเป็นสิทธิของแต่ละคนนะครับ ที่จะไปกินข้าว ไปคุยการเมือง ไปหาอนาคต กับใครที่ไหนก็ได้ ไม่เห็นจะเสียหายตรงไหนเลย เป็นเรื่องที่
แต่ละกลุ่ม แต่ละพรรค จะบริหารจัดการ จนได้คนแบบ “คอเดียวกัน ทิศทางการเมืองเหมือนกัน อุดมการณ์ต้องกัน”ไปร่วมงานกันจนได้นั่นแหละ

มันเป็น “ค่ายกล” อันเกิดจากรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งในระบบจัดสรรปันส่วนผสม และวิธีคำนวณคะแนนแบบ กกต. ชุดปัจจุบันนี้ทำให้เป็น และยังไม่เห็นวี่แววว่าจะได้รับการแก้ไข

และยิ่งค่ายกลนั้น ผูก “ยุทธวิธี” ให้ สว. เลือกนายกฯ ได้ตั้ง 5 ปี การเมืองภายใต้กติกาแบบนี้ ใครจะเป็นนายกฯ ได้ละครับ นอกจาก “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” จนกว่า “คนที่ถูกเลือกคนใหม่” จะปรากฏตัว

พวกที่ไม่พอใจในพรรคพลังประชารัฐ ขืนออกไปอยู่พรรคอื่นดูสิครับ อนาคตทางการเมืองจะเป็นยังไงเขาถึง “เกาะกลุ่ม” อยู่กันได้ แค่หาจุดลงตัวของอำนาจและผลประโยชน์เท่านั้นแหละ แต่หากมีการเลือกตั้งมันง่ายกว่าอยู่พรรคอื่น เพราะ “เครื่องยนต์กลไก และปัจจัยมันพรั่งพร้อม”

ประชาธิปัตย์ยุค “จุรินทร์” จึงเล่นเกม “ตีเนียน” ร่วมงานด้วยมาก่อนใคร โดยต่อรองให้ได้ขับเคลื่อนนโยบาย “ประกันรายได้” จนทำสำเร็จ ถามว่ามีพรรคไหน
ได้ขับเคลื่อนนโยบายของตัวเองเหมือนประชาธิปัตย์บ้าง ในรัฐบาลนี้ แต่เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญดูจะเฉยๆ เรื่องการตรวจทุจริตก็มี สส.บางกลุ่มจับตาดูอยู่ ประชาธิปัตย์จึงเป็นพรรคภายนอก ที่ “อยู่กับ 3 ป.” ได้ดีที่สุดแล้วตอนนี้ ด้วยบท “เด็กดี-ยอมแล้วจ้า” มาตลอด จนสส.จำนวนหนึ่งคับแค้นใจ การจะเดินเกมอะไร หรือหาที่อยู่ใหม่ จึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้

เช่นกันกับพรรคเพื่อไทย หลายคนที่เป็นเพื่อนฝูงกันย้ายมาอยู่พลังประชารัฐ ก็อยู่ดีกินดี มีความสุขหากกติกายังคงเดิม มีหรือจะไม่สานสัมพันธ์กันไว้ล่วงหน้าและเมื่อถึงเวลาก็ย้ายเข้าบ้านใหม่ จนเกิดการดิ้นรนให้เกิด “กลุ่มการเมือง” งอกออกมา ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มบ้านบางแค เอ๊ย!! กลุ่มแคร์ กลุ่มของจาตุรนต์ และอาจมีกลุ่มคุณหญิงหน่อยเพิ่มขึ้นอีกก็ได้ ใครจะรู้

สส.ก้าวไกล จำนวนหนึ่งก็คงอ่านเกมได้ ว่าพรรคไม่มีอนาคตหรอก เพราะทิม-พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไม่ใช่ทั้ง “ตัวจริง” และ “ของจริง” และกลุ่ม “ของจริง” นำโดยธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ก็ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองยาวนานเชียวระหว่างนี้พวกเขาพบว่า การขับเคลื่อนทางการเมืองแบบ “กลุ่ม” ง่ายกว่า ประหยัดกว่า คล่องตัวกว่า และดีกว่าแบบ “พรรค” เป็นไหนๆ ไม่เหนื่อย ไม่ยุ่ง สบายๆ แต่ควบคุมกดดันทิศทางทางการเมืองได้ ผลิต“คลื่นแทรก” ทางการเมืองได้อยู่เนืองๆ

สรุปว่า ในเวลานี้ พล.อ.ประยุทธ์ และคณะ ทั้งที่เปิดเผยและไม่เปิดเผย ยังคง “คุมเกมการเมือง” อยู่ ด้วยระบบที่ออกแบบมาให้ตนเองแข็งแกร่ง และกลุ่มอื่นๆ พรรคอื่นๆ อ่อนแอลง จนเกิดการ “เขย่า” กันครั้งใหญ่กระนั้นก็ตาม สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ และพวก จะหลงลืมมิได้ก็คือ “ประสิทธิภาพในการทำงาน”

เกมการเมือง พวกคุณอาจคุมอยู่ แต่กับ“บ้านเมือง” การเล่นการเมืองแบบนี้ ได้บ่มเพาะความรู้สึก“รังเกียจ” ในหมู่ประชาชนที่อยากเห็นการเมืองได้รับการปฏิรูป มีหลักการ มีอุดมการณ์ กลับเห็นแต่การบริหาร “ความสมดุลของประโยชน์” โดยเฉพาะในหมู่“คนรุ่นใหม่” ที่ถูกใส่เชื้อต่อต้านรัฐประหาร รังเกียจการสืบทอดอำนาจ ผนงรจตกม ตรวจสอบไม่ได้ และกำลังโหมกันหนักมากในตอนนี้คือเรื่อง “อุ้มหาย”

ถึงโครงสร้างทางอำนาจ จะมีกำลังค้ำจุนรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์” ได้จริง มีสื่อหิวเงิน ช่วยประคองไว้อย่างหนักหน่วงก็จริง แต่เห็นไหม พอเกิดแรงกระเพื่อมในพรรคพลังประชารัฐที่กระทบกับรัฐมนตรีที่แจกถุงเงินมาให้พวกเขา นักการเมืองขั้วตรงข้ามก็ถูกขุดขึ้นมาด่าเสียเละเทะ แต่ไม่ต้องห่วงนะครับ สื่อสันดานนี้ โยนเงินโยนงบลงไป ไม่นานก็หันมาเชียร์ เป็นสื่อ IO ชั้นยอดที่มีผู้ชมผู้อ่านติดตามมากที่สุดในยามนี้

ทว่า ถ้าผลงานด้าน “เศรษฐกิจ” ยังล้มเหลวต่อไป อะไรก็เอาไม่อยู่ครับ

1) เศรษฐกิจย่ำแย่ ตั้งแต่ยังไม่มีโควิด-19

2) โควิด-19 ทำให้คนตกงานเรือนล้าน ปิดกิจการ เป็นหนี้ อีกมหาศาล

3) การส่งออกและการท่องเที่ยวที่เป็นรายได้หลัก ได้รับผลกระทบอย่างหนัก

4) ผู้คนหวนกลับสู่ต่างจังหวัด พบว่าจะปรับตัวเข้าสู่ภาคการเกษตรก็ขาดทักษะ ขาดที่ดินทำกิน ขาดทุน และขาดน้ำ จึงอยู่ที่ว่า เงินกู้ที่กู้มาจะไปสร้างงานในชนบท สนับสนุนภาคการเกษตร ประคองเอสเอ็มอี และภาคธุรกิจได้ดีและทั่วถึงเพียงใด

5) สำคัญที่สุด อย่าได้ “ทุจริต” เมื่อใดที่มีการทุจริต ความฉิบหายจะมาเยือนรัฐบาลทันที

6) ความเป็นธรรมและทั่วถึงก็ต้องมี วันใดที่อัยการมีความเห็นให้ฟ้อง “วิรัช รัตนเศรษฐ” ประธานวิปรัฐบาล กรณีทุจริตสนามฟุตซอล มาดู “มาตรฐานคนดี”ของชายชื่อประยุทธ์กัน ว่าจะยังให้เป็นประธานวิปรัฐบาลอยู่ไหม เพราะก่อนหน้านี้ปลดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปมากมาย เพียงแค่ถูก “กล่าวหา”

เมื่อพล.อ.ประยุทธ์ เลือกที่จะแยกตัวออกมาจากพรรคการเมือง สวมหัวโขน “คนดี” ต้องเล่นบทนี้ด้วยชีวิตและหัวใจ จะเสื่อมจะทรุดไม่ได้ แม้มีคนพยายามทำให้เสื่อมอยู่เสมอ สิ่งที่จะค้ำจุนได้ไม่ใช่แค่สร้างความเชื่อว่าเป็น “คนดี” แต่ในภาวะที่ประชาชนเจอปัญหาสารพัดขนาดนี้

“ความเก่ง” คือสิ่งที่คนต้องการครับ

หากตัวเองไม่เก่งพอ หาคนเก่งมากอบกู้ชีวิตประชาชน

เมื่อประชาชนพ้นทุกข์ นั่นแหละ คือ เสาค้ำที่มั่นคงที่สุดในทางการเมือง!!!

Let's block ads! (Why?)



"มันง่าย" - Google News
June 13, 2020 at 12:00PM
https://ift.tt/37sbsN5

คอลัมน์การเมือง - การเมืองโกลาหล...ประชาชนอดอยาก - หนังสือพิมพ์แนวหน้า
"มันง่าย" - Google News
https://ift.tt/36QbjCT
Home To Blog

No comments:

Post a Comment